คำชี้แจงกรณีผู้เช่าจามจุรีสแควร์ กล่าวหา สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ได้รับความเสียหาย

สืบเนื่องจากกรณีที่มีการเผยแพร่เนื้อหาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับการจัดการของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อผู้ค้ารายย่อยรายหนึ่งในห้างจามจุรีสแควร์ว่าไม่เป็นธรรมนั้น ทางสำนักงานฯ ขอยืนยันว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง มีการให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง และจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงหลายประการเพื่อสร้างกระแสและกดดันสำนักงานฯ

ประการที่หนึ่ง

กรณีเรื่องเพิ่มราคาค่าเช่า การกล่าวหาว่าทางสำนักงานฯ มีการขึ้นราคาค่าเช่าอย่างไม่เป็นธรรม ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน เนื่องจากตั้งแต่ผู้เช่า Kiosk (บูธขายสินค้าแบบรถเข็น) รายนี้เริ่มทำสัญญาเช่ากับทางสำนักงานใน พ.ศ. 2558 ต่อจากสัญญาเดิมที่ทำกับผู้รับสัมปทานจากสำนักงานฯ ที่มีมาก่อนหน้า ก็ไม่ได้มีการปรับอัตราค่าเช่าเลยในปีแรก และใน 2-4 ปี แรกของสัญญา ได้มีการปรับค่าเช่าดังนี้ ปีที่ 2 ปรับค่าเช่า 300 บาท ต่อเดือน ปีที่ 3 ปรับค่าเช่า 200 บาท ต่อเดือนและ ปีที่ 4 ปรับค่าเช่า 680 บาท ต่อเดือน ตามลำดับ เท่านั้น เหล่านี้ทางสำนักงานฯ มีหลักฐานเป็นเอกสารสัญญาอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ อัตราค่าเช่าที่ผู้เช่าอ้างถึง แท้จริงแล้วเป็นอัตราของพื้นที่การเช่าในรูปแบบใหม่ ที่ปรับตามนโยบายการจัดสรรพื้นที่ ที่เปลี่ยนเปลงไป เนื่องจากทางสำนักงานฯ ต้องการเปิดพื้นที่รอบๆ บันไดเลื่อนหน้าร้านค้าต่างๆ ให้โปร่งโล่งขึ้น และหากจะมีร้านขายสินค้าก็ให้ปรับรูปแบบเป็นลักษณะที่ถาวร และเป็นสัดเป็นส่วนมากขึ้นกว่าบูธแบบรถเข็น ซึ่งจะไม่มีอีกต่อไป ราคาค่าเช่าจึงปรับเปลี่ยนตามรูปแบบของพื้นที่ ที่ต้องใช้มากขึ้นและจำนวนผู้ซื้อที่น่าจะมากขึ้นตามไปด้วย

ส่วนที่มีการกล่าวหาว่า ทางสำนักงานฯ ได้ผลักให้ผู้เช่ารายที่เป็นปัญหาดังกล่าวต้องย้ายไปอยู่หน้าห้องน้ำซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ประสงค์นั้น ก็สืบเนื่องจากเหตุผลเดียวกันคือ พื้นที่รอบๆ บันไดเลื่อนจะเปลี่ยนรูปแบบการใช้และไม่มี Kiosk (บูธขายสินค้าแบบรถเข็น) อีกต่อไปแล้ว หากผู้เช่ายังคงยืนยันจะเช่าในลักษณะดังกล่าวต่อไป จึงไม่มีทางเลือกนัก

ในการเจรจากับผู้เช่าเรื่องเปลี่ยนแปลงพื้นที่เช่า ได้มีการคุยกันล่วงหน้ามาแล้วกว่า 1 ปี โดยสำนักงานฯ แจ้งให้ผู้เช่าทราบก่อนสัญญาจะสิ้นสุด 6 เดือน เพื่อหาทำเลอื่นทดแทน แต่ผู้เช่ารายนี้ดึงดันที่จะขออยู่ตำแหน่งเดิมต่อไป ซึ่งทางสำนักงานฯ ก็พยายามยืดหยุ่นให้อยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไปได้ก่อน โดยทำสัญญาต่อคราวละ 6 เดือน และคิดอัตราค่าเช่าเดิม ไม่มีการปรับขึ้นค่าเช่า ในการการขอนัดทำสัญญา 6 เดือนครั้งสุดท้าย (ตุลาคม 62 – เมษายน 63) ซึ่งผู้เช่าขอต่อสัญญาเพียงเดือนเดียวก่อน เพื่อดูสภาพการค้าขาย ทางสำนักงานฯ ก็ผ่อนผันให้อีก

ประการที่สอง

ที่มีการกล่าวหาว่า ทางสำนักงานฯ ปฎิเสธไม่พูดคุยกับผู้เช่ารายนี้ ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะผู้อำนวยการสำนักงานฯ ได้มีโอกาสประชุมพูดคุยกับผู้เช่ารายนี้ ไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง ตลอดช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา ทั้งที่มีนัดหมายและไม่ได้นัดหมาย และเมื่อจบการเจรจาทุกครั้งทางผู้เช่าก็มักจะนำไปโพสต์ในสื่อสังคม บิดเบือนข้อเท็จจริงโดยตลอด แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจในการเจรจาตกลงกัน ซึ่งในบรรดาผู้เช่าทั้งหมดกว่า 111 ราย ของพื้นที่ส่วนพลาซ่าในอาคารจามจุรีสแควร์ ก็มีเพียงผู้เช่ารายนี้ที่มีพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น ตลอดระยะเวลาที่เช่าพื้นที่อยู่ ผู้เช่ารายนี้ได้ประพฤติผิดระเบียบ ผิดสัญญามาโดยตลอด เช่นค้างค่าเช่าเสมอ ให้ผู้อื่นเปิดผ้าคลุมร้านเพื่อเปิดร้านโดยไม่มีพนักงานขาย พูดจาข่มขู่พนักงานของสำนักงานฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ เป็นต้น

ประการที่สาม

ข้อกล่าวหาที่ว่าผู้เช่ารายนี้ถูกยามรักษาการณ์ของห้างแอบตามถ่ายรูปทั้งภายในห้าง ที่จอดรถ และในที่เปลี่ยวนั้น ก็ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง สำนักงานฯ ขอชี้แจงว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่และมีการถ่ายภาพพื้นที่ต่างๆ เพื่อส่งรายงานประจำวันเป็นปกติทุกวัน ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องเฝ้าสังเกตการณ์บุคคลใดเป็นพิเศษตามที่อ้างถึง

ประการสุดท้าย

กรณีคุณยายวัย 85 ปีที่ถูกไล่ออกจากร้านนวด ตามที่ผู้เช่ากล่าวหาผ่านสื่อต่างๆ ว่าสำนักงานฯได้เข้าไปกดดันนั้น ทางสำนักงานฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น เป็นการตัดสินใจของเจ้าของกิจการร้านนวด ที่มองว่าคุณยายซึ่งมีความสนิทสนมกับผู้เช่ารายดังกล่าวมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทั้งที่ทางเจ้าของร้านได้ตักเตือนแล้ว

ทางสำนักงานฯ ยืนยันว่าเรามีนโยบายการบริหารพื้นที่เช่า โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของประเภทธุรกิจ และรูปลักษณ์ของพื้นที่เช่า เพื่อส่งเสริมให้ภาพรวมของอาคารอยู่ในระดับมาตรฐานที่เหมาะสมทางธุรกิจ และไม่มีการเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นผู้เช่ารายใหญ่หรือรายย่อย และยังคงดำเนินพันธกิจในการทำให้จามจุรีสแควร์ไม่ได้เป็นเพียงห้างสรรพสินค้า แต่เป็นแหล่งเรียนรู้ในแนวทาง Edutainment ต่อไป แม้ธุรกิจด้านสิ่งพิมพ์และแหล่งการเรียนรู้จะอยู่ในภาวะซบเซาตามสภาพเศรษฐกิจ เราก็ยังเปิดรับในเชิงนโยบายเสมอ ดังจะเห็นได้จากการจัดสรรพื้นที่มากกว่า 9,459 ตารางเมตร ให้กับธุรกิจประเภทการศึกษาและสิ่งพิมพ์ในขณะนี้

Start typing and press Enter to search