สยามสแควร์ โฉมใหม่ “ไร้สาย” กับโครงการนำสายสื่อสารและสายไฟลงใต้ดิน

สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ (PMCU) ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง และพันธมิตรด้านโทรคมนาคม อย่างบริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด ดำเนินการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน โดยเริ่มนำร่องดำเนินการให้สยามสแควร์เป็นพื้นที่ไร้สายไฟฟ้าและสายสื่อสารอย่างแท้จริง ภายในปี 2563 นี้ จากนั้นจึงเดินหน้าสานต่อขยายพื้นที่ไร้สายต่อเนื่องไปยังพื้นที่สวนหลวง-สามย่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้โครงการ CHULA SMART CITY

รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สิน และกายภาพ จุฬาฯ ได้กล่าวถึงนโยบายที่เปิดให้พันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ (Chula Smart City) เพื่อร่วมกันศึกษา พัฒนารูปแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในพื้นที่ในการดูแลของจุฬาฯ และพัฒนาชุมชนเมืองที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ล่าสุดได้ปรับปรุงทัศนียภาพ ความสวยงาม และความเรียบร้อย ของสายไฟฟ้าและสายสื่อสาร

เพื่อทัศนียภาพที่สวยงามและความปลอดภัย ทางสำนักงานฯ  จึงการดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารดังกล่าว ด้วยการนำลงใต้ดิน โดยได้มีการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมด้วยการติดตั้งโครงข่ายเส้นใยแก้วนำแสง Fiber Optic Cable (FOC) ฝังในระดับใต้ดิน เพื่อใช้ทดแทนสายสื่อสารเดิมทั้งหมด โดยผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม อย่างบริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด

นำร่องดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่สยามสแควร์ บนเนื้อที่ขนาด 63 ไร่ ประกอบไปด้วยอาคารพาณิชย์ อาคารสำนักงาน ตึกสูง และร้านค้าจำนวนมาก สยามสแควร์ถือเป็นแลนมาร์คสำคัญด้านการท่องเที่ยวที่อยู่ใจกลางเมือง เป็นศูนย์กลางการ Shopping แหล่งรวมร้านค้าแฟชั่น ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติเป็นจำนวนมาก โดยในอนาคตจะมีการพัฒนาพื้นที่ให้เป็น Walking Street เพื่อรองรับการเดิน Shopping อย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย

ประกอบกับการจัดกิจกรรมการประกวด “การออกแบบลวดลายบนฝาท่อ Fiber Optic Cable ของสยามสแควร์” เพื่อให้นิสิตจุฬาฯ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเอกลักษณ์ให้สยามสแควร์ โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวชัญญา ตั้งจิตวินัย นิสิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยฝาท่อดังกล่าวนำมาผลิตและใช้ได้จริงบนพื้นที่สยามสแควร์รวม 11 จุด ทั่วสยามสแควร์อีกด้วย

ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาระบบจ่ายไฟฟ้า โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ เพื่อรองรับโครงการเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ (Chula Smart City) โดยครอบคลุมทั้งพื้นที่การศึกษาและพื้นที่พาณิชย์ รวม 1,153 ไร่ ซึ่งล้อมรอบไปด้วยถนนพระราม 4  ถนนพระราม 1  ถนนบรรทัดทอง  ถนนอังรีดูนังต์ มีการพัฒนาโครงการต่างๆ ประกอบด้วย

• ปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นระบบไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เพียงพอ มั่นคง ปลอดภัย มีทัศนียภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จุฬาฯ ให้สวยงามภายในปี 2562 และครอบคลุมทั้งพื้นที่จุฬาฯ ภายในปี 2564

• พัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งในพื้นที่จุฬาฯ มีศักยภาพในการติดตั้ง Solar rooftop ประมาณ 20 เมกะวัตต์

• ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy storage System) ขนาด 1.2 เมกะวัตต์ชั่วโมง ที่สถานีไฟฟ้าย่อยปทุมวัน ภายในปี 2563

• พัฒนาระบบมิเตอร์อัจฉริยะ (AMI) ภายในปี 2564 สามารถเก็บข้อมูลการใช้ไฟฟ้า ซึ่งหัวใจสำคัญในการเชื่อมโยงและบริหารจัดการพลังงาน ในพื้นที่ Smart City

• พัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ภายในปี 2564 ควบคุมและแก้ไขระบบไฟฟ้าขัดข้องอย่างอัตโนมัติ อาทิคุณภาพไฟฟ้า เช่น แรงดันไฟฟ้า ให้อยู่ในมาตรฐานการให้บริการ และผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าได้ในปัจจุบัน

การพัฒนาพื้นที่ภายใต้โครงการ CHULA SMART CITY นั้น มีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่จุฬาฯ ให้เป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ โดยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นย่านแห่งนวัตกรรมที่สร้างสรรค์คุณค่าแก่ชุมชนและสังคม ผสานคุณภาพชีวิตและธุรกิจ มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน…

Start typing and press Enter to search