เจ้านายราชตระกูลตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นลงไปตลอดจนถึงราษฏรที่ต่ำสุด จะให้ได้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้า ว่าขุนนาง ว่าไพร่ เพราะฉะนั้นจึงขอบอกไว้ว่า การเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้ จะเป็นข้อสำคัญที่หนึ่งซึ่งฉันจะอุตส่าห์จัดให้เจริญขึ้นให้จงได้
กระแสพระราชดํารัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
พระราชทานแก่พระราชวงศ์ และข้าราชการซึ่งเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ในงานของโรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพุทธศักราช 2427
…ให้ใช้ที่ดินส่วนหนึ่งเพื่อปลูกสร้างสถานศึกษา และอีกส่วนหนึ่งให้ใช้จัดหาผลประโยชน์เพื่อนํามาปรับปรุงการศึกษา โดยมิต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดินแต่เพียงอย่างเดียว…
พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6
วิวัฒนาการของสํานักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ
พ.ศ. 2482 : ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดิน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินพระราชทานมาโดยสมบูรณ์ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พ.ศ. 2506 : พัฒนาที่ดินผืนแรก
โครงการพัฒนาที่ดินเขตผลประโยชน์แห่งแรกของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน คือ พื้นที่บริเวณสวนหลวง-สามย่าน โดยได้ทำสัญญาปรับปรุงที่ดินกับบริษัท วังใหม่ จำกัด ระหว่างนี้ อาคารใดปรับปรุงแล้วเสร็จ บริษัทฯ มีสิทธิเก็บผลประโยชน์ หลังจากเมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว มหาวิทยาลัยจึงจะได้สิทธิจัดหาผลประโยชน์เองโดยสมบูรณ์
พ.ศ. 2507 : กำเนิดสยามสแควร์
โครงการพัฒนาที่ดินเขตผลประโยชน์สยามสแควร์ บริเวณแยกปทุมวันริมถนนพญาไท และพระราม 1 เริ่มได้รับการพัฒนา ทำให้ที่ดินซึ่งจากเดิมที่มีคนอยู่อาศัยจนกลายเป็น ชุมชนแออัดนั้น กลายเป็นศูนย์การค้าเชิงราบและมีพื้นที่เปิดโล่ง ในชื่อโครงการ “ปทุมวันสแควร์” ต่อมาเรียกกันในชื่อ “สยามสแควร์” โดยมีบริษัทที่เข้ามาดำเนินการพัฒนาที่ดินสยามสแควร์ คือ บริษัท เซาท์อีสท์เอเซียก่อสร้าง จำกัด (ปัจจุบันคือ บริษัท ซีคอนโฮม จำกัด) ซึ่งเป็นบริษัทรับช่วงของบริษัท วังใหม่ จำกัด
พ.ศ. 2511 : จัดตั้งสำนักงานจัดการผลประโยชน์
การจัดตั้งสำนักงานจัดการผลประโยชน์ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2511 มีหน้าที่ปฏิบัติงานในเขตผลประโยชน์โดยตรง เพื่อให้ดำเนินการแบบธุรกิจ ไม่เป็นส่วนราชการ มีแผนงานดำเนินการเป็น 2 ระยะ ระยะที่หนึ่ง (พ.ศ. 2511) สำนักงานฯ ยังดำเนินงานแบบราชการ โดยจัดหาข้าราชการจำนวนหนึ่ง เข้ามาปฏิบัติงานไปพลางก่อน ระยะที่สอง (พ.ศ. 2516 เป็นต้นไป) เมื่อปรับระบบงานคงที่แล้ว จึงให้สำนักงานฯดำเนินงานแบบธุรกิจ มีพนักงาน ปฏิบัติงานที่ไม่เป็นข้าราชการ
พ.ศ. 2516 : ก่อตั้งสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยได้แยกฝ่ายทรัพย์สินออกจากส่วนราชการอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย โดยมีรองอธิการบดี ฝ่ายทรัพย์สินดูแลรับผิดชอบ กำหนดหน้าที่ของหัวหน้าสำนักงานจัดการทรัพย์สินและภาระหน้าที่ ของสำนักงานฯ (เปลี่ยนชื่อจากสำนักงานจัดการผลประโยชน์) ตามระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สิน พ.ศ. 2516 จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของ “สำนักงานจัดการทรัพย์สิน” มาจนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. 2519 : พัฒนาโครงการ มาบุญครอง
ในช่วงปลาย พ.ศ. 2518 สำนักงานจัดการทรัพย์สินเริ่มแนวคิดในการพัฒนาจุดต่อเชื่อมสยามสแควร์กับฝั่งตรงข้าม คือบริเวณพื้นที่หมอน 51 ซึ่งเป็นที่ดินที่ยาวแต่แคบ พื้นที่บริเวณนี้แวดล้อมด้วยย่านธุรกิจ จึงเหมาะกับการพัฒนาเพื่อดำเนินธุรกิจเชื่อมต่อกับสยามสแควร์ โดยในระยะแรกโครงการนี้ตั้งชื่อโครงการว่า “จุฬาคอมเพล็กซ์” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “มาบุญครอง” ถือได้ว่าเป็นโครงการก่อสร้างคอมเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทย
พ.ศ. 2530 : ปรับปรุงตลาดสามย่าน
สำนักงานจัดการทรัพย์สินได้ดำเนินการปรับปรุงตลาดสามย่าน ซึ่งแต่เดิมเป็นตลาดสดจำหน่ายสินค้าอย่างไม่มีระเบียบ โดยหลังจากปรับปรุงตลาดได้มีการแยกประเภทของสินค้า อาทิ อาหารสด อาหารแห้ง และมีร้านอาหารอยู่ชั้น 2 ของตลาด เพื่อดึงดูดผู้มาใช้บริการ ซึ่งแต่เดิมบริเวณชั้น 2 เป็นที่พักอาศัยของพ่อค้าแม่ค้าในตลาด
พ.ศ. 2537 : “จุฬาไฮเทค”
มหาวิทยาลัยได้ลงนามทำสัญญากับผู้ลงทุน คือกลุ่ม JAIDO ในนามบริษัท สยามเทคโนซิตี้ จำกัด เพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณหมอน 20 ข้างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ระยะเวลาก่อสร้าง 40 เดือน โดยใช้ชื่อว่า “จุฬาไฮเทค” แต่เมื่อก่อสร้างฐานรากและตัวอาคารสูงถึงประมาณชั้นที่ 13 ก็ถึงช่วงที่ประเทศประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การก่อสร้างจึงต้องหยุดลง จนถึง พ.ศ. 2543 มหาวิทยาลัยได้บอกเลิกสัญญาบริษัทฯ
พ.ศ. 2544 : พัฒนาโครงการ U Center
พัฒนาพื้นที่โครงการ U Center (หอพักพวงชมพู) เพื่อเป็นหอพักนิสิตและเป็นพื้นที่กันชน (Buffer Zone) ระหว่างเขตพาณิชย์กับพื้นที่การศึกษา
พ.ศ. 2545 : พัฒนาโครงการ จัตุรัสจามจุรี
มหาวิทยาลัยตัดสินใจเข้ามาดำเนินการพัฒนาโครงการจุฬาไฮเทคต่อ โดยมหาวิทยาลัยเป็นผู้ก่อสร้างเอง ใช้ชื่อว่า “จัตุรัสจามจุรี” (Chamchuri Square) หลังการหยุดก่อสร้างโครงการจุฬาไฮเทคของกลุ่ม JAIDO โครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการแรกที่สำนักงานฯ บริหารจัดการเอง นับเป็นมิติใหม่ของการบริหารจัดการทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2546 : โครงการพัฒนาที่ดินนอกเขตปทุมวันแห่งแรกของมหาวิทยาลัย
โครงการพัฒนาที่ดินบริเวณชายฝั่งทะเลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นับเป็นโครงการพัฒนาที่ดินนอกเขตปทุมวันแห่งแรกของมหาวิทยาลัย โดยในพ.ศ. 2546 มหาวิทยาลัยเปิดโอกาสให้เอกชนมาเป็นผู้ลงทุนพัฒนาและก่อสร้างเป็นอาคารโรงแรม อายุสัญญาการเช่า 15 ปี ใช้ชื่อว่า “โรงแรมวรบุระ รีสอร์ท แอนด์ สปา หัวหิน”
พ.ศ. 2550 : ตลาดสามย่านแห่งใหม่
ก่อสร้างตลาดสามย่านแห่งใหม่ ภายหลังใช้งานมากว่า 40 ปี ซึ่งอาคารเดิมได้เสื่อมสภาพตามกาลเวลา ยากแก่การซ่อมแซม จึงมีการก่อสร้างตลาดสามย่านแห่งใหม่ โดยในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ได้ย้ายตลาดสามย่านจากที่เดิมบริเวณจุฬาฯ ซอย 15 มาอยู่บริเวณระหว่างจุฬาฯ ซอย 32 และ 34
พ.ศ. 2551 เปิดอาคารจัตุรัสจามจุรี
พิธีเปิดอาคารจัตุรัสจามจุรี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารจัตุรัสจามจุรี โดยความพิเศษอีกประการหนึ่งของอาคาร คือ เป็นอาคารแรกที่บริเวณชั้นใต้ดินเป็นชั้นที่เชื่อมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT)
พ.ศ. 2551 : ก่อสร้างอาคารสยามกิตติ์
การก่อสร้างอาคารสยามกิตติ์ โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 2 ระยะ ระยะแรกเป็นอาคารส่วนฐาน โดยผู้เช่าหลักเป็นโรงเรียนกวดวิชา ส่วนโครงการในระยะที่สอง จะมีการพัฒนาเป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีรูปแบบการใช้ชีวิตท่องเที่ยวสมัยใหม่
พ.ศ. 2554 : ก่อสร้าง CU i House และ CU Terrace
การก่อสร้าง CU i House และ CU Terrace : ตามแผนแม่บทกำหนดให้ที่ดินบริเวณนี้ เป็นที่พักอาศัยแนวพื้นที่กันชน (Buffer Zone) ระหว่างเขตพาณิชย์และเขตการศึกษา รวมถึงเพื่อการรองรับความเป็นนานาชาติ (International House) สำหรับอาจารย์ นิสิตต่างชาติ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2554 : พัฒนาโครงการ สยามสแควร์วัน
การก่อสร้างอาคารสยามสแควร์วัน : มีแนวคิด “ช็อปปิ้งสตรีทแบบเปิด” (Urban Shopping Streets) อันเป็นเอกลักษณ์ของสยามสแควร์ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ทันสมัย เป็นอาคารแนวตั้งขนาด 7 ชั้น หรือ Vertical Shopping Streets ในส่วนของสยามสแควร์วันสร้างความแตกต่างด้วยการนำเสนอสินค้าหรือบริการในลักษณะของแฟล็กชิปสโตร์ (Flagship Store) และร้านค้าส่วนใหญ่เป็นผู้เช่าเดิมที่เคยอยู่ร่วมกันมาในสยามสแควร์
พ.ศ. 2555 : เริ่มโครงการอุทยาน 100 ปี และถนน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เริ่มก่อสร้างโครงการอุทยาน 100 ปี และถนน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสร้างขึ้นในวาระที่ก้าวสู่ 100 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อมอบเป็นของขวัญชิ้นสำคัญให้แก่ประชาชนและสังคมโดยรอบ
พ.ศ. 2557 : สยามสแควร์วัน เปิดให้บริการ
สยามสแควร์วัน เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ
พ.ศ. 2557 : โครงการ I’m Park Chula เปิดให้บริการ
โครงการ I’m Park Chula คอมมูนิตี้มอลล์แห่งใหม่ ใจกลางสามย่าน พัฒนาโดยบริษัท แกรนด์ ยูนิแลนด์ จำกัด บนพื้นที่รวมกว่า 20,000 ตรม. ประกอบไปด้วย Community Mall และ Shopping Plaza เพื่อเป็นพื้นที่พักผ่อน ทำกิจกรรม ของนักเรียน นิสิตและผู้ปกครอง
พ.ศ. 2558 : พัฒนา โครงการ Dragon Town (Zy Walk)
โครงการอาคารพาณิชย์สูง 4 ชั้นแห่งใหม่ ที่ตกแต่งด้วยเอกลักษณ์อันคลาสสิกในสไตล์จีน Sino-Portuguese เน้นการผสมผสานระหว่างตะวันตกกับตะวันออก เพื่อรองรับประเภทธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งภัตตาคาร สินค้าบริการ ของตกแต่งบ้าน ของสะสม และสินค้าไลฟ์สไตล์ โดยบริษัท รวมนครก่อสร้าง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ลงทุนพัฒนาและดำเนินงานบริหารตั้งอยู่บริเวณถนนจุฬาฯ 5 โดยโครงการมีขนาดพื้นที่ประมาณ 9 ไร่
พ.ศ. 2558 : พัฒนาโครงการ สวนหลวงสแควร์
สำนักงานจัดการทรัพย์สินได้ปรับพื้นที่บริเวณจุฬาฯ ซอย 5 ตัดจุฬาฯ ซอย12 ขนาดพื้นที่ 10 ไร่ เป็นร้านค้าที่ทันสมัย โครงการชื่อว่า “สวนหลวงสแควร์” มีแนวคิดเป็นแหล่งรวมของอร่อย เป็นต้นแบบของย่านการค้าชุมชน มีลักษณะเป็นอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นร้านค้า ส่วนชั้นบนใช้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์
พ.ศ.2560 : พิธีเปิดอุทยาน ๑๐๐ ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2560 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอุทยาน ๑๐๐ ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ.2560 : ริเริ่มโครงการ เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ (CHULA SMART CITY)
แนวคิดในการพัฒนาพื้นที่บริเวณสามย่านให้เป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ โดย PMCU มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นย่านแห่งนวัตกรรมที่สร้างสรรค์คุณค่าร่วมแก่ชุมชนและสังคม ผสานคุณภาพชีวิตและธุรกิจ มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยมีแนวคิดในการพัฒนา 4 แนวคิดหลัก หรือ “SMART 4” ได้แก่ 1. Smart Mobility 2. Smart Energy 3. Smart Environment 4. Smart Living
พ.ศ.2560 : พัฒนาโครงการ SIAMSCAPE
เริ่มพัฒนาโครงการ SIAMSCAPE บนพื้นที่สยามสแควร์ บริเวณ BLOCK H (โบนันซ่าเดิม) ให้เป็นอาคารรูปแบบ Mixed use สูง 24 ชั้น ที่ประกอบไปด้วย พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ อาคารสำนักงานสมัยใหม่ และพื้นที่ร้านค้าที่โดดเด่น และแตกต่างด้วยแนวคิดการจัดสรรและใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ LIFELONG LEARNING ” นอกจากนั้น โครงการนี้ยังถูกออกแบบให้เป็นหนึ่งใน Parking Node ของสยามสแควร์ ด้วยอาคารที่จอดรถติดถนนพญาไท ที่สามารถรองรับรถได้กว่า 700คัน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดในการพัฒนาสยามสแควร์ ให้เป็น Walking & Shopping Street อย่างเต็มรูปแบบ
พ.ศ.2561 : โครงการ STADIUM ONE เปิดให้บริการ
สเตเดียม วัน” (STADIUM ONE) ไลฟ์สไตล์สปอร์ตคอมมูนิตี้ ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท เดอะ สปอร์ต โซไซตี้ จำกัด บนพื้นที่หมอน 56-57 บริเวณด้านหลังสนามกีฬาศุภชลาศัย สู่ Sport Destination แห่งใหม่ที่มีที่เดียวในกรุงเทพ
พ.ศ.2561 : ปรับปรุงหอพักนักกีฬาเดิม เป็นหอพักสำหรับบุคลากร (STADIUM HOUSE)
ปรับปรุงหอพักนักกีฬาเดิมที่ได้รับคืนจากกรมพลศึกษาที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม เป็นหอพักสำหรับบุคลากร (STADIUM HOUSE) เพื่อใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
พ.ศ.2561 : พัฒนาโครงการ BLOCK 28
โครงการ BLOCK 28 พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิดที่ต้องการส่งเสริมธุรกิจ STARTUP เพื่อเป็นการสนับสนุนและตอบโจทย์การใช้พื้นที่ ให้กับธุรกิจที่กำลังจะเกิดใหม่เป็น CREATIVE & STARTUP VILLAGE ที่มีบรรยากาศในการทำงานที่เอื้อต่อการใช้งาน และความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ มีการออกแบบในสไตล์ “Modular” เน้นความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน รูปแบบอาคารง่ายต่อการปรับเปลี่ยนพื้นที่ และมีฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ทั้ง 5 อาคาร โดยในแต่ละอาคารแบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นที่ 1 เปิดเป็นร้านอาหาร ร้านค้าและบริการ ชั้นที่ 2-3 เป็นออฟฟิศที่สามารถทำงานแบบ Flexible Working House สำหรับกลุ่ม Creative Startup ด้านต่างๆ
พ.ศ.2562 : ปรับปรุงโรงภาพยนตร์ลิโด เป็น LIDO CONNECT
ลิโดเป็นโรงภาพยนตร์แห่งที่ 2 ในเครือ Apex (เอเพ็กซ์) ที่เปิดให้บริการแก่ผู้คนนานถึง 5 ทศวรรษ ก่อนจะหมดสัญญาและปิดตัวไปเมื่อ 31 พฤษภาคม 2561 โดย “PMCU” (สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ในฐานะผู้ถือสัมปทานพื้นที่สยามสแควร์ ซึ่งได้ “LOVEiS Entertainment” เข้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ จัดตั้งบริษัท LIDO CONNECT เพื่อชุบชีวิตใหม่ให้กับลิโด้ โดยเปลี่ยนจากโรงหนังกลายเป็น LIDO CONNECT พื้นที่แห่งโอกาส เพื่อสนับสนุนการสร้างผลงานศิลปะและการใช้ชีวิตของผู้คนทุกวัย
พ.ศ.2562 : เปิดโครงการ “สามย่านมิตรทาวน์”
โครงการสามย่านมิตรทาวน์ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2562 โดยตัวโครงการตั้งอยู่บริเวณหมอน 21-22 บริเวณสี่แยกสามย่าน ระหว่างถนนพระรามที่ 4 และถนนพญาไท เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่โดยใช้แนวคิดสมาร์ทมิกซ์ยูส พัฒนาโครงการโดย บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์
พ.ศ.2562 : รับมอบสนามกีฬาเทพหัสดินคืนจากกรมพลศึกษา
ทำการรับมอบสนามกีฬาเทพหัสดินคืนจากกรมพลศึกษา และทำการปรับปรุงสนามที่มีสภาพทรุดโทรมให้มีสภาพที่ดีขึ้น พร้อมสำหรับใช้งานแข่งกีฬาและจัดกิจกรรมสันทนาการสำหรับประชาชนทั่วไป
พ.ศ. 2563 : โครงการ BLOCK 28 เปิดให้บริการ
โครงการ BLOCK 28 เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ
พ.ศ. 2564 : เริ่มพัฒนาโครงการ BLOCK 33
โครงการพัฒนาของ PMCU บริเวณหมอน 33 ใจกลางสามย่าน ในรูปแบบโครงการมิกซ์ยูส โดยตัวโครงการตั้งอยู่ติดกับอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่กลางเมือง
พ.ศ. 2564 : โครงการ SIAMSCAPE เปิดให้บริการ
SIAMSCAPE เปิดให้บริการ