มาปลดปล่อยความสุข แต่งตัวมาสนุกได้ตามใจ โพสต์ท่าได้ไม่ต้องกลัวใคร กลางสี่แยกบรรทัดทอง !!
กลับมาอีกครั้งกับถนนคนเดินบรรทัดทอง 🚶♀️🚶🚶♂️ ที่จะชวนท […]
สวนสาธารณะของย่านที่โดดเด่น เป็นเสมือนแลนมาร์คแห่งพื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองอีกแห่ง คืออุทยาน 100 ปี จุฬาฯ บนพื้นที่สีเขียวกว่า 29 ไร่ ที่เป็นพื้นที่สีเขียวอันเกิดขึ้นจากนโยบายการสร้างเมือง GREEN & CLEAN CITY และเพื่อเป็นการตามรอยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชทานที่ดินให้แก่จุฬาฯ เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และคืนประโยชน์สู่สังคมส่วนร่วม โดยก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560 ซึ่งตรงกับวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบ 100 ปี พื้นที่สีเขียวแห่งนี้จึงเป็นเสมือนของขวัญให้สำหรับคนทุกเพศทุกวัย ได้เข้ามาสูดอากาศบริสุทธิ์ผ่อนคลาย สามารถมาเดินหรือออกกำลังรับลมเย็น ๆ ชมพระอาทิตย์ตกดินในบรรยากาศสวยที่หาได้ยาก และได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติในย่านใจกลางกรุงเทพฯ
ด้วยแนวคิดในการออกแบบอุทยานแห่งนี้ ที่ไม่เพียงแต่การคำนึงถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ขนาดใหญ่ของย่าน สร้างความหลากหลายด้วยการใช้พืชพรรณที่หลากหลาย และปลูกแบบธรรมชาติตามแนวคิดป่าในเมือง มอบความเขียวชอุ่ม สดชื่น และสวยงามให้แก่ชุมชน ด้วยดีไซน์การออกแบบอันเกิดจากแรงบันดาลใจมาจากการเติบโตของกิ่งรากจามจุรี ต้นไม้สัญลักษณ์ประจำของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ยังถูกออกแบบให้เป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโครงสร้างระบบนิเวศสีเขียวในระดับชุมชนของเมืองแห่งนี้ (URBAN GREEN INFRASTRUCTURE) และคำนึงถึงการรับน้ำและการหมุนเวียนทรัพยากรน้ำภายในอุทยานอย่างชาญฉลาด เพื่อเป็นต้นแบบสวนสาธารณะที่เป็นพื้นที่หน่วงน้ำของเมือง เอื้อต่อระบบนิเวศที่ดี และเอื้อต่อการทำกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ ของคนในชุมชนได้อีกด้วย
อุทยานแห่งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สาธารณะที่เปิดโอกาสให้เกิดการใช้พื้นที่สีเขียวเพื่อการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนระหว่างนิสิตกับชุมชน คนกับธรรมชาติ และยังเป็นพื้นที่เปิดสำหรับกิจกรรมในด้านต่าง ๆ เพื่อชุมชนและสังคมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมด้านสุขภาพ กิจกรรมทางดนตรี และกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ร่วมกับหลายหน่วยงาน ทำให้คนในชุมชนได้เข้าถึงกิจกรรมดี ๆ มากมายตลอดทั้งปี ในแต่ละวันจึงมีคนในชุมชนและประชาชนเข้ามาใช้บริการภายในอุทยานเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สำหรับคนทุกเพศทุกวัยอย่างแท้จริง
กิจกรรมดนตรีในสวน
คนในชุมชนได้ใช้พื้นที่ในการออกกำลังกาย
พื้นที่สำหรับทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างนิสิตและชุมชน
กิจกรรมศึกษาดูงานจากหน่วยงานภายนอก
ด้วยแนวคิดในการออกแบบและสร้างความมีส่วนร่วมในกิจกรรมมากมายให้แก่คนในชุมชน จึงไม่แปลกที่อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลการันตีมากมาย ทั้งรางวัลระดับประเทศและระดับนานาชาติ และเป็นหนึ่งในอุทยานต้นแบบของโลก ที่หลายสถาบันให้ความสนใจและเข้ามาศึกษาดูงานอีกด้วย
อาคารอเนกประสงค์ เพื่อใช้รองรับการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและชุมชนอย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการสัมมนา การเปิดตัวโครงการต่าง ๆ ร่วมถึงกิจกรรมเพื่อชุมชน ซึ่งมีทั้งสถาบันการศึกษา นิสิต นักศึกษา องค์กรต่าง ๆ ฯลฯ มาใช้บริการห้องอเนกประสงค์เป็นจำนวนมาก
ลานจอดรถใต้อาคารอเนกประสงค์ รองรับรถยนต์ได้ 200 คัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาพักผ่อน ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมต่างๆ ที่อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ
เป็นแรงบันดาลใจจากการเติบโตของกิ่งรากจามจุรี ซึ่งยืดหยุ่นกับการใช้ง่ายปรับเปลี่ยนได้ตามบริบท และเชื่อมโครงสร้างระบบนิเวศสีเขียวของเมือง (Urban Green Infrastructure) ในระดับชุมชน ด้วยโครงข่ายระบบถนน และพื้นที่สีเขียวขนาดต่างๆ
แนวพื้นที่รับน้ำ (Rain garden) ปลูกต้นไม้สองข้างทาง พร้อมระบบท่อระบายน้ำใต้ดิน ช่วยในการซึมน้ำ-หน่วงน้ำเมื่อฝนตก
เป็นการออกแบบที่สะท้อน “การพระราชทานที่ดินให้แก่จุฬาฯ เพื่อคืนประโยชน์สู่สังคมส่วนรวม” ด้วยลักษณะอาคารที่สอดประสานเป็นหนึ่งเดียวกับพื้นที่ภูมิทัศน์ เป็นสถาปัตยกรรมที่เปรียบเสมือนซุ้มประตู (Gate Way) จากกระบวนทัศน์ทางธรรมชาติวิทยา เป็นที่หมายตา (Landmark) ให้กับอุทยาน ๑๐๐ ปี จุฬาฯ และมหาวิทยาลัยฝั่งตะวันตกพื้นที่หลังคาเขียว (Green roof) ของอาคารอเนกประสงค์ เป็นเนื้อเดียวกันกับพื้นที่อุทยานด้านล่าง ด้วยการเชื่อมต่อที่ว่างภูมิทัศน์ในรูปแบบเนินดิน และทางลาดให้เกิดความต่อเนื่องสูงสุด
ถนนสีเขียว : เชื่อมต่อชุมชนเมือง
ถนน ๑๐๐ ปี จุฬาฯ (แนวถนนจุฬาลงกรณ์ ซอย 5 เดิม) เขตทางกว้าง 30 เมตร ยาว 1.35 กิโลเมตร ช่องทางเดินรถ 2 เลน ปลูกต้นไม้สองข้างทาง เชื่อมต่อพื้นที่อุทยาน ๑๐๐ ปี จุฬาฯ กับ ถนนพระราม 1 – พระราม 4
สร้างความต่อเนื่องของกิจกรรม การใช้ประโยชน์พื้นที่ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน เป็นต้นแบบถนนสีเขียวร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ไม้พุ่มหลากชนิดที่ทนต่อสภาพแวดล้อมเมือง ส่งเสริมให้รถขับช้า (slow traffic) และให้ความสำคัญต่อการเดินเท้า ขี่จักรยาน และการใช้รถโดยสารขนส่งมวลชน (mass transit)